รำโทนจังหวัดลพบุรี

รำโทน บ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่
รำ โทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๒๔๘๖  ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘) บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ยามค่ำคืนจะมืดไปทุกหนทุกแห่ง ระหว่างสงครามนั้นทางราชการสั่งห้ามกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุม ประชาชนจึงเกิดความเหงาและเครียด ชาวบ้านที่ย้ายมาจากที่อื่นและเคยร้องเพลงรำโทนจึงนำเพลงเหล่านี้มาร้องและ ฝึกร้องกันเพื่อความสนุกสนาน แต่มานางตะเคียน เทียนศรี ได้รวมกลุ่มญาติพี่น้อง และฝึกหัดรำโทนและตั้งเป็นคณะ “แม่ตะเคียน เทียนศรี” ตั้งแต่นั้นมา
การแสดงรำโทนของชาวบ้านแหลมฟ้าผ่าเดิมจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานตรุษสงกรานต์ งานบวชนาค งานแต่งงาน แสดงกันในบริเวณลานวัดบริเวณลานบ้าน บริเวณโรงเรียน และเป็นการพบปะกันการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาวในหมู่บ้านและต่างถิ่น การแสดงเริ่มช่วงหัวค่ำจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น และแสดงภายใต้แสงเทียน เพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในสมัยนั้น
ก่อนการแสดงมีการนำครกไม้มาตั้งไว้ตรงกลางเพื่อให้ผู้เล่นดนตรีได้นั่งแทน เก้าอี้ ผู้รำจะรำไปรอบๆ ฝ่ายชายเป็นผู้โค้งฝ่ายหญิง รำเป็นคู่ๆ หลังจากการแสดงจบลง มีการร้องเพื่อลากลับทุกครั้ง การบรรเลงและการขับร้องประกอบการแสดงรำโทน เริ่มต้นด้วยผู้บรรเลงและขับร้องนั่งด้านหน้าเวที ผู้แสดงออกมายืนในท่าที่พร้อมที่จะแสดง พ่อเพลง แม่เพลงร้องขึ้นต้นบทเพลง เพลงแรกลูกคู่และผู้บรรเลงดนตรี ตีโทนและจังหวะรับ ผู้แสดงทุกคนร่วมร้องเพลงพร้อมกับรำและตีบทไปตามเนื้อเพลง ใช้ท่าทางที่เป็นธรรมชาติสื่อให้ผู้ชมได้เห็นอย่างชัดเจนเข้าใจง่าย โดยแต่ละเพลงจะร้องซ้ำหรือร้องทวน ๒ ถึง ๓ เที่ยว เมื่อจบแต่ละเพลงทั้งดนตรีและผู้ขับร้อง จึงหยุดแล้วขึ้นบทเพลงใหม่ต่อไป ปฎิบัติตามขั้นตอนนี้ทุกครั้ง
เพลงที่นำมาร้องสำหรับรำโทนนั้น มีเนื้อร้องที่ค่อนข้างสั้น เนื้อหาในเนื้อเพลง ส่วนใหญ่บรรยายเกี่ยวกับตัวละครในวรรณคดี สมัยก่อนมีประมาณ ๘๐ เพลง แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ ๑๐-๑๒ เพลง ถ้าเพลงใดที่ผู้เล่นไม่ชอบก็มักจะไม่นำมาร้องเพลงนั้นจึงสูญหายไป คงอยู่แต่เพลงที่สนุกสนาน ไพเราะและมีท่ารำที่ผู้แสดงพอใจเท่านั้น เพลงที่นำมาร้องใช้วิธีการจำสืบทอดต่อกันมา
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทน บ้านแหลมฟ้าผ่า ประกอบด้วย
๑.ถังน้ำมันรถจี๊บ ทำหน้าที่เป็นเครื่องประกอบจังหวะหน้าทับแทนโทน เนื่องจากโทนทำจากดินเผาไม่คงทนเกิดการชำรุดเสียหายได้ง่าย
๒.รำมะนาลำตัด ชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า เรียก “รำมะนา”ว่า “โทน” เนื่องจากนำมาใช้ตีประกอบการแสดงรำโทน
๓.ฉิ่ง ตีประกอบจังหวะย่อย-ใหญ่
๔.กรับ ตีประกอบจังหวะใหญ่
บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง เพลงรำโทนที่นำมาร้องนั้น ใช้วิธีจดจำสืบทอดกันมาการถ่ายทอดอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเนื้อ เพลงและท่ารำ เพลงส่วนใหญ่ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔ จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับตัวละครในวรรณคดี เช่น ลักษณวงศ์ ไกรทอง รามเกียรติ์ ฯลฯ แต่ที่พบมากที่สุดมีเพลงรัก หรือเพลงที่เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เช่น ไหนเล่าดอกรัก เดือนจ๋า ฯลฯ เนื่องจากเพลงแต่ละเพลงยาวมาก ฉะนั้นการตั้งชื่อเพลงหรือเรียกชื่อเพลงจึงเรียกชื่อตามวรรณคดีแรกของเพลง เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพลงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเพลงประเภทปลุกใจเพลงประเภทชักชวนให้เชื่อผู้นำ เช่น เพลงแปดนาฬิกา ไตรรงค์ธงชาติ เพลงประกอบสะท้อนภาพบ้านเมือง เช่น ลพบุรี ตื่นเถิดลุกเถิด หวอมาจะว่าอย่างไร เพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น สาวน้อยเอวกลม เพลงที่แสดงออกถึงความรัก การเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว ฯลฯ
เพลงที่ใช้ขับร้องประกอบการรำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า ในปัจจุบันมีดังนี้
๑.เพลงแปดนาฬิกา
๒.เพลงชาติศาสนา
๓.เพลงผู้นำของชาติ
๔.เพลงสาวน้อยเอวกลม
๕.เพลิงศิลปากร
๖.เพลงลพบุรี
๗.เพลงลักษณวงศ์
๘.เพลงรุ้งงามกินน้ำอยู่ในวง
๙.เพลงเดือนจ๋าเดือน
๑๐.เพลงดึกเสียแล้วละหนา
๑๑.เพลงแก้วตา
ตัวอย่างเนื้อร้องเพลงรำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า
เพลงผู้นำของชาติ
เชื่อผู้นำของชาติ
ประกาศทั้งชายและหญิง
สตรีเอาไว้ผมยาว (ซ้ำ)
ใส่หมวกรองเท้าให้ทันสมัย
นุ่งถุงกระตุ้งกระติ้ง (ซ้ำ)
มันน่ารักจริงยอดหญิงชาวไทย (ซ้ำ)

เพลงลพบุรี
ลพบุรีเราเอ๋ย
ไม่นึกเลย ว่าจะถูกโจมตี
สี่เครื่องยนต์ เขามาบินล้อม
(ซ้ำ)         ทิ้งลูกบอมบ์ลงหน้าสถานี
ก๊อกน้ำยังถูกทำลาย
หัวรถไฟยังถูกปืนกล
สี่เครื่องยนต์เข้ามายิงกราด
(ซ้ำ)         ยิงถูกตลาดหน้าห้องแถวลพบุรี
สาวน้อยอย่าเพิ่งหนี
หนุ่มน้อยอย่าเพิ่งหนี
ลพบุรียังไม่เป็นไร
เขามาข้างบนเขามาเรือบิน
เราอยู่พื้นดินเอา ป.ต.อ.
เข้ามาตั้ง ต่อสู้กันดูสักครั้ง (ซ้ำ)
ป.ต.อ.เข้ามาตั้งหมายจะยิงเรือบิน
                ท่ารำ การรำวงของชาวแหลมฟ้าผ่าจะเป็นลักษณะ “ตีบท” คือทำท่าสื่อไปตามคำร้องที่ปรากฏผู้เล่นจะคิดท่ารำประกอบเองตามความหมายของเนื้อเพลง
รำโทน บ้านหนองยายโต๊ะ ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล
รำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านหนองยายโต๊ะ ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีสำหรับประชาชนในตำบลหนองยายโต๊ะนั้น ส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคอีสาน การแสดงรำโทนเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านตำบลหนองยายโต๊ะ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันตรุษ งานเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ มีหนุ่มสาวในหมู่บ้านออกมาสนุกสนานรื่นเริงกันในบริเวณลาดวัดใกล้บ้าน และมีการรำเป็นคู่ๆ เป็นการเกี้ยวพาราสีกัน จนเกิดการรวมตัวกันตั้งเป็นคณะรำโทนของบ้านหนองยายโต๊ะ
                เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ โทน ซึ่งทำหน้าที่ประกอบจังหวะหน้าทับ ชาวบ้านจะใช้โทนหลายใบ โดยใช้ผู้หญิงล้วนเป็นผู้บรรเลง ไม่ปรากฏเครื่องกำกับจังหวะอื่นแต่ใช้การปรบมือเพื่อทำจังหวะแทนแผนผังการ ตั้งวงดนตรีไม่พบว่ามีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว ผู้บรรเลงนั่งตีโทนบนเก้าอี้เป็นกลุ่มพร้อมกับร้องเพลงไปในตัว ด้วย            รูปแบบการแสดง เนื่องจากเป็นการแสดงที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันตรุษ โดยที่มีการนัดหมายหรืออาณัติสัญญาณการเคาะไม้ เพื่อแจ้งให้ชาวบ้านมาทำการแสดงในช่วงเทศกาลที่กล่าวข้างต้น รูปแบบการแสดง จะไม่มีพิธีไหว้ครูคงรอให้ผู้แสดงมาพร้อมกัน จากนั้นก็เริ่มการแสดงได้
การแต่งกาย ชายสวมเสื้อลายดอก คอพวงมาลัย กางเกงขายาวมีผ้าขาวม้าคาดเอว หญิงสวมเสื้อลายดอก นุ่งโจงกระเบนแบบดั้งเดิม สวมเสื้อคอกระเช้าและผ้ารัดอกคือ ห่มผ้าเป็นแถบคาดอก
                เพลงที่ขับร้องของบ้านหนองยายโต๊ะ มี
๑.เพลงเรียมเคยรำ
๒.เพลงธงชาติไทย
๓.เพลงตามองตา
๔.เพลงเจ้าช่อมาลี

ตัวอย่างเนื้อร้องเพลงรำโทนบ้านหนองยายโต๊ะ
                ๑.เรียมเคยรำ
เรียมเคยรำ ใยหรือมาทำใจน้อย
เรียมอุตส่าห์มาคอย ร้อยกรองมา
ร้องเป็นเพลง สาวเอยน้องมารำ
กับพี่ อย่าหลบอย่าหนีให้พี่วังเวง
สาวเอยอย่าเกรง จะทำให้เพลง
ของเรียมจืดจาง
                ๒.ธงชาติไทย
ธงชาติไทย ครั้งแรกเสียไปเมื่อไทย
ถูกโกง ธงชาติศาสนา
ธงสัญญาให้ไทยยืนตรง
เดี๋ยวนี้ไทยได้คืนมา
แปดนาฬิกาพวกเรายืนตรง
แปดนาฬิกาได้เวลาชักธง
พวกเราจะต้องยืนตรงเคารพธงชาติไทย
เพื่อสนับสนุน ป.พิบูลสงคราม
พวกเราจะต้องทำตาม แทนผู้นำชาติไทย (ซ้ำ)
ท่ารำ ลักษณะการเล่นรำโทนของบ้านหนองยายโต๊ะ จะรำตามจังหวะของเครื่องดนตรีที่ประกอบคือโทนเป็นหลัก ไม่มีบทร้อง ท่ารำจึงมุ่งเน้นที่ความสนุกสนานเพลิดเพลินของผู้รำเป็นสำคัญ ผู้ใดจะยกมือหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไรก็ได้ ให้เข้ากับจังหวะทำนอง โดยไม่มีการกำหนดแบบแผนของท่ารำไว้นับได้ว่ารำโทนของบ้านหนองยายโต๊ะ เป็นรำโทนเพื่อความบันเทิง คลายความเครียดจากสภาวะบ้านเมืองหรือจากการทำงาน ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินต่อมาภายหลังรำโทนของบ้านหนองยายโต๊ะ ได้มีการนำบทร้องเข้ามาประกอบทำนองดนตรี แต่ลักษณะของการเล่นรำโทน ก็ยังคงรักษารูปแบบที่เน้นความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยไม่ได้กำหนดท่ารำที่เป็นแบบแผนไว้ดังเดิม
รำโทน บ้านบัวชุม ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล
รำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านบัวชุม ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ในอดีตบ้านบัวชุมมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นโทขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายไปขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์แล้วย้ายไปขึ้นกับมณฑลสระบุรี และสุดท้ายได้ย้ายกับมณฑลลพบุรี และได้ย้ายที่ทำการเมืองบัวชุมไปชัยบาดาลก่อนที่จะย้ายที่ทำการอำเภอมาที่ลำ นารายณ์ประชาชนในพื้นที่มีภาษาพูดแบบไทยอีสานปนโคราชเรียกว่า “ไทยเบิ้ง”
การรำโทนของชาวบ้านตำบลบัวชุมได้สืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีต เนื่องจากบัวชุมแต่เดิมอาจจะเป็นหัวเมืองเก่าที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก่อนหน้า นั้นแล้ว เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ดังนั้นจึงมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อๆ กันมา สำหรับการเล่นรำโทนนิยมเล่นในช่วงที่ชาวบ้านว่างเว้นจากการทำนาโดยเฉพาะใน หน้าตรุษสงกรานต์ ครั้งแรกอาจจะเป็นที่การตีโทนและรำเพียงอย่างเดียว ต่อมาเมื่อมีการแต่งวรรณคดี จึงได้นำเอาตัวละครในวรรณคดีมาแต่งเป็นเพลงรำโทน เช่น เพลงไกรทอง เพลงลักษณวงษ์ เพลงสุริโยทัย และการละเล่นรำโทนได้มานิยมเล่นกันมากในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีมีการส่งเนื้อเพลงมาให้ประชาชนร้องรำและมักเป็นเพลงประเภท ปลุกใจ
                เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทนที่ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล ได้แก่
๑.โทน ใช้โทนหลายใบ ผู้บรรเลงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้บรรเลงนั่งบนเก้าอี้ นำโทนวางลงบนตักให้ทางส่วนท้ายของโทนยื่นไปทางด้านข้างของสะเอว ด้านซ้ายทำให้ส่วนที่เป็นหน้ากลองตั้งอยู่บริเวณหน้าตักโคนขาด้านในพอดี มือซ้ายจับบริเวณระหว่างกลางของส่วนหนังเรียด กับของกลอง และยังใช้ประคองหุ่นกลองไปในตัวด้วยโดยใช้มือขวาตีเป็นหลัก
๒.ฉิ่ง ใช้เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะ
๓.ฉาบใหญ่ ใช้ตีประกอบจังหวะให้หนักแน่นเพิ่มความสนุกสนานให้การแสดงรำโทนมากขึ้น
                บทเพลงรำโทนของชาวบ้านตำบลบัวชุม ได้แก่
๑.เพลงธงชาติไทย
๒.เพลงรำวงสามัคคี
๓.เพลงโท่นๆ ป๊ะ โท่นๆ
๔.เพลงนกกระริ่ง
๕.เพลงนกเขาขัน
๖.เพลงอำเภอพิมาน
๗.เพลงน้ำค้างพร่างพรม
๘.เพลงกระต่ายหมายจันทร์
๙.เพลงลาที
                ตัวอย่างเนื้อร้องเพลงรำโทนตำบลบัวชุม
                เพลงนกกระริ่ง
โทน โทน โทน
ฉันรำมันด้วยรัก
ฉันรักมาด้วยความจริง
โยทิง โยทิง นกกระริ่ง จับกิ่งดาวเรือง
เธอจ๋าอย่าตาหวานนัก (ซ้ำ)
จะเดี๋ยวคู่รักของเธอจะเคือง
คู่รักมันไม่สำคัญ
ประเดี๋ยวคู่รักของเธอจะเคือง
เพลงน้ำค้างพร่างพรม
น้ำค้างพร่างพรม
ลมเย็นอยู่บนยอดไม้
ชื่นอกชื่นใจดอกไม้มีตั้งหลายสี
ผมยาวประบ่าหันหน้ามาทางนี้
คนใส่เสื้อสีสวยดีน้องทัดดอกอะไร
โน่นดอกอะไรทัดไว้อยู่เหนือหู
พี่อยากจะรู้ว่าดอกไม้นั้น
ส่งกลิ่นหอมเย็นหรือจะเป็นมะลิวัลย์
ดอกไม้นั้นขอให้พี่จะได้ไหมเธอ (ซ้ำ)
ขอดอกได้ไหม ไม่ได้หรอกพี่
ดอกเดียวก็เถิดหนอ
เจ้าของเขามี ดอกเดียวก็เถิดหนา
ก็เธอบ้าหรือดีจะขอเท่าไหร่พี่ก็ไม่ให้อย่าหวังเลย
พี่จะได้เด็ดดม (ซ้ำ)
               ท่ารำ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นจากความคิดความถนัดของผู้รำสุดแท้แต่ใครจะคิดสร้าง สรรค์ให้สามารถเคลื่อนไหวไปตามท่วงทำนองดนตรีได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ทำรำที่สืบทอดต่อๆ กันมา ก็เป็นท่าที่มีความหมายตามบทร้อง และเรียนแบบอากัปกิริยาตามชีวิตประจำวัน
รำโทน บ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม
รำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี บ้านโคกสลุงนี้ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ห่างจากตัวเมืองลพบุรีไปทางทิศเหนือประมาณ ๖๕ กิโลเมตร ประชากรบ้านโคกสลุงเป็นชาวไทยเบิ้งนับถือศาสนาพุทธมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างดี นอกจากนี้ชาวโคกสลุงยังมีการแสดงรำโทนที่นิยมนำมาแสดงในงานเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง ระหว่างหนุ่มสาว โดยนิยมจัดแสดงกันในบริเวณชุมชน วัด ลานบ้าน
                เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทน พบว่า มีเครื่องดนตรีเพียงประเภทเดียว คือ โทน ทำหน้าที่ประกอบจังหวะหน้าทับ หุ่นกลองทำจากดินเผา โดยมีศิลปินผู้หญิงเป็นผู้บรรเลง ประมาณ ๓ คน และไม่ปรากฏว่ามีเครื่องกำกับจังหวะชนิดอื่นๆ นอกจากโทนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
                บทเพลงร้องรำโทนของบ้านโคกสลุง มี ๑๐ เพลงดังนี้
๑.เพลงซ่อมมะปรางปริง
๒.เพลงสวยเอยไม่เคยเห็นหน้า
๓.เพลงรักกันยังไม่ทันถึงปี
๔.เพลงกุหลาบหนามเตย
๕.เพลงใจหนอใจ
๖.เพลงรำไปยิ้มไป
๗.เพลงดูดาว
๘.เพลงรักรักรัก
๙.เพลงนั่นดอกอะไร
๑๐.เพลงหนูจ๋า
ตัวอย่างบทร้องเพลงรำโทนบ้านโคกสลุง
๑.ช่อมะปรางปริง
เจ้าช่อ โอ้ มะปรางปริง
สวยจริงกำลังจะหล่อ
น่ารักจริงหนอ
เจ้าช่อโอ้มะปรางปริง
เธอช่างสวยถูกใจ
เสียดายที่อยู่ปลายกิ่ง
น่ารักจริงจริง
ทุกสิ่งฉันได้แต่มอง
ยามเมื่อเธอมองมา
ฉันใช้สายตาเป็นสื่อ
ความรักนั้นหรือ
เป็นสื่อกันด้วยสายตา
๒.สวยเอยไม่เคยเห็นหน้า
สวยเอยไม่เคยเห็นหน้า
เป็นบุญตาวาสนาเหลือเกิน
สวยอย่างพี่ยิ่งมองยิ่งเพลิน
น่ารักเหลือเกินน่าเพลินใจนัก
หลงรักเขาตัวเราไม่เทียมศักดิ์ (ซ้ำ)
วาสนาตกยากเขาไม่รักเราเลย
                    การแต่งกาย นักแสดงหญิงสวมเสื้อคอกระเช้า ผ้าขาวม้าพาดไหล่ซ้ายในลักษณะสะพายแล่ง นุ่งผ้าโจงกระเบนสีพื้นเก็บชายเสื้อทับในเล็กน้อย บางคนอาจทัดดอกไม้ที่หูซ้ายหรือขวาตามความสะดวกของผู้แสดง
รำโทน บ้านมหาโพธิ์ อำเภอสระโบสถ์
รำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านมหาโพธิ์ หมู่ที่ ๔ ตำบลมหาโพธิ์ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ การทรงเจ้าการบนบานศาลกล่าว ประเพณีดั้งเดิมของบ้านมหาโพธิ์คือ ประเพณีสงกรานต์ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ เมษายนของทุกปี ประชาชนจะไปทำบุญที่วัด ทำบุญอัฐิของญาติที่เสียไปแล้ว ปล่อยนก ปล่อยปลา รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่และญาติที่เคารพนับถือรวมทั้งการสรงน้ำพระการละเล่นพื้น บ้าน หลังจากวันสงกรานต์ประมาณ ๑-๒ วัน ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในตำบลมหาโพธิ์จะรวมกันจัดขบวนแห่กลองยาวไปยังวัดเข้าถ้ำ พระ เพื่อทำพิธีส่งสงกรานต์ และจัดงานรื่นเริงอย่างสนุกสนานนอกจากนี้ยังมีพิธีทำบุญกลางบ้าน เดือน ๖ ของทุกปีในบริเวณโคนต้นมะขามใหญ่ ซึ่งเป็นต้นมะขามที่อายุกว่า ๑๐๐ ปี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ชาวบ้านตำบลมหาโพธิ์ มีการเล่นรำโทนมานานแล้วตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่มานิยมเล่นกันมากในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ร้องรำทำเพลง เพื่อความรื่นเริงและสนุกสนาน จึงเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้นชาวบ้านในตำบลส่วนใหญ่จึงร้องและรำกันเป็นหมด โดยนิยมเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์หรืองานบุญต่างๆ
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทน มี เครื่องดนตรีเพียงประเภทเดียว เช่น โทน ซึ่งทำหน้าที่ประกอบจังหวะหน้าทับไม่ปรากฏเครื่องกำกับจังหวะเช่น ฉิ่ง กรับ ฉาบเล็ก เป็นต้น แต่ใช้การตบมือเพื่อทำจังหวะแทน
                บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงรำโทนตำบลมหาโพธิ์ ได้แก่
๑.เพลงยามเย็นเดินเล่นชายเขา
๒.เพลงวันนี้เป็นวันสงกรานต์
๓.เพลงฟัง ซิ ฟัง ซิ เสียงโทน
๔.เพลงจะมองดูดาว
๕.เพลงตะวันเย็นๆ
๖.เพลงดาวเดือดเป็นพยานฉันด้วย
๗.เพลงมาเถอะมาน้องมา
๘.เพลงผู้คนเฮฮา
๙.เพลงไหนเล่าดอกไม้
๑๐.เพลงหันใจฉันใด
๑๑.เพลงดาวเดือนก็เคลื่อนก็คล้อย
ตัวอย่างบทร้องรำโทน
                ๑.เพลงยามเย็นเดินเล่นชายเขา
ยามเย็นเดินเล่นชายเขา
สองคนเราชมพรรณนา
โน่นนก นกสาลิกา นาสาลิการ
จับกิ่งเวหาเจรจาน่าดู
ไก่ฟ้าบินมาเป็นคู่คู่
น่ารัก น่าดู เดินคู่คุยกัน

                ๒.ดาวเดือนก็เคลื่อนก็คล้อย
ดาวเดือนก็เคลื่อนก็คล้อย
สาวน้อยนั้นมาหรือยัง
แลซ้ายก็ให้เปล่าตา
แลขวาละล้าละลัง
ฉันเดินเที่ยวค้นเที่ยวหา (ซ้ำ)
ถ้าแม้นเจอหน้าฉันจะว่า
เสียให้จัง
                การแต่งกาย ชายสวมเสื้อคอกลมลายดอกสวมกางเกงขายาวเป้ากว้างแบบทางภาคเหนือ ผ้าขาวม้าคาดเอว หญิงสวมเสื้อคอกระเช้า นุ่งผ้าลายผ้าพื้น ห้อยผ้าพาดไหล่สไบเฉียงทัดดอกไม้ที่หูข้างซ้ายมีแต่ผู้ขับร้องที่เป็น ผู้หญิงไม่มีผู้ขับร้องเป็นผู้ชายโดยสวมเสื้อคอกว้างแขนสั้น ผ้าไทย นุ่งผ้าพื้น-ผ้าลาย ทัดดอกไม้ที่หูข้างซ้าย
                 ท่ารำ ท่ารำของผู้รำโทนได้ใช้ท่าทางธรรมชาติเป็นลักษณะของรำวงโดยมุ่งเน้นที่ความ สนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะไม่มีรูปแบบหรือกำหนดท่ารำเป็นแบบแผน
รำโทน บ้านยางโทน ตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง
รำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านยางโทน ตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ของตำบลยางโทน ห่างจากตัวเมืองลพบุรีไปทางทิศเหนือประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านใช้วัดยางโทนสามัคคีสำหรับประกอบศาสนกิจและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
การร้องรำโทนของชาวบ้านตำบลยางโทน เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่างสมัยสงครามโลกครั้งที่  ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘) ชาวบ้านมีการรวมตัวกันในการเล่นรำโทนในงานรื่นเริงหรือในงานพิธี/ประเพณี เช่น งานลอยกระทง งานสงกรานต์ เป็นการเล่นระหว่างคนหนุ่มสาว เพื่อเกี้ยวพาราสีกัน การรำและการร้องใช้วิธีจดจำต่อๆ กันมา
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทนที่ตำบลยางโทน พบว่ามีเครื่องดนตรีดังนี้
๑.โทนชาตรี ใช้ตีเป็นเครื่องประกอบจังหวะ
๒.ฉิ่ง ใช้ตีกำกับจังหวะย่อย
๓.ฉาบเล็ก ใช้ตีกำกับจังหวะโดยตีขัดหลอกล้อไปกับบทเพลง
๔.กรับใช้ตีกำกับจังหวะใหญ่
นอกจากนี้ยังมีผู้ขับร้องชาย-หญิง และได้ตบมือประกอบระหว่างขับร้องเพลงด้วย สำหรับผู้บรรเลงนอกจากจะทำหน้าที่บรรเลงเครื่องประกอบจังหวะหน้าทับแล้ว ยังต้องขับร้องไปด้วยทุกเพลง
                   กระบวนการจัดการแสดง ก่อนการแสดงจะเริ่มด้วยการไหว้ครูก่อน เพื่อบูชาครูอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมีดอกไม้ ธูปเทียน เหล้า บุหรี่ และ เงินกำนัลครูเป็นกรสักการบูชา ต่อจากนั้นก็เริ่มการแสดงโดยเริ่มตีโทนเป็นจังหวะหน้าทับ พร้อมทั้งเครื่องกำกับทั้งหมด นักร้องที่ขับร้องเพลงแรกเป็นผู้เริ่มตั้งจังหวะให้เหมาะสม โดยมีผู้แสดงท่ารำประกอบในแต่ละเพลงเป็นคู่ ๆ ตีบทไปตามเนื้อร้องของเพลง เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ เป็นการชักชวนชายหนุ่ม หญิงสาว ให้มารำวงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน และจบลงด้วยเพลงลาเป็นอันดับสุดท้าย

บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงรำโทน
๑.เพลงรำเสียที่เถิดหนา
๒.เพลงดอกบัวไทย
๓.เพลงเรียมเคยคำ
๔.เพลงชักชวนสาวงาม
๕.เพลงตามองตา
๖.เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด
๗.เพลงหล่อจริงนะดารา
๘.เพลงเดือนดารา
๙.เพลงลา
๑๐.เพลงจากกันแล้วละหนา
ตัวอย่างเพลงร้องรำโทน
๑.ชักชวนสาวงาม

ชักชวนสาวงามมาเล่นฟ้อนรำ ถวายหลวงพ่ออนิจจารูปหล่อ คิ้วต่อกระไรข้างเดียว เอาเรือยนต์เข้ามารับ ขากลับกระไรน้ำเชี่ยว เดือนสิบสองเดือนเดียวไปเที่ยวที่วัดโสธร (ซ้ำ) ไปกันละจ๊ะ ฉันกลัวจะไม่แน่นอนไปไหนเล่าหล่อน วัดโสธรที่เราเคยไป (ซ้ำ)
              ๒.จากกันแล้วละหนา
จากกันแล้วละหนา
ฉันขอลาไปก่อน
จำใจจะต้องจากจร
อย่าอาวรณ์เร่าร้อนฤทัย
หากแม้ว่ามีความดี
โอกาสมีมาสนุกกันใหม่
ขอวอนองค์พระนารายณ์
จงให้มีความสุขเอย
การแต่งกายของชาวบ้านตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี
ในสมัยก่อนจะแต่งกายตามสมัยนิยมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชายสามกางเกง เสื้อคอกลมหรือเสื้อปกเชิ้ตแขนยาวหรือแขนสั้นก็ได้ สวมหมวก สวมรองเท้า หรืออาจจะแต่งกายตามสภาพของท้องถิ่น หญิงสวมประโปรงสุ่มหรือกระโปรงย้วย ใส่เสื้อแขนโป่งผูกโบว์ที่เอว สวมหมวกสวมรองเท้า หรืออาจจะแต่งกายแบบตามสภาพท้องถิ่นปัจจุบันผู้แสดงรำโทนได้พยายามคงรักษา รูปแบบเอกลักษณ์ไทยไว้ และมีการประยุกต์เครื่องแต่งกายให้สอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์จังหวัด ลพบุรีชายสามโจงกระเบน เสื้อคอกลมสีพื้น คาดผ้าคาดเอว หญิงสวมโจงกระเบน เสื้อคอกลมลายดอกทานตะวันทัดดอกไม้คาดผ้าคาดเอว

อ้างอิง รำโทนลพบุรี