ประเพณีกวนข้าวทิพย์

ae1fce45ca6b47ceb7bca8d38ada8aa2

เป็น ประเพณีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ โดยนางสุชาดาธิดาของเศษรฐีหมู่บ้านเสนานิคม ได้นำอาหารซึ่งเป็นข้าวมธุปายาส ไปบรวงสรวงเทพยดาที่ใต้ต้นนิโครธ ในวันเพ็ญขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 นางได้พบพระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธ ก็เข้าใจว่าเป็นเทพยดา เมื่อพระพุทธองค์เสวยแล้ว ได้ทรงนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยน้ำ และทรงอธิษฐานว่า หากพระองค์จะได้ตรัสรู้ขอให้ถาดทองนั้นลอยขึ้นเหนือน้ำ เมื่อพระพุทธองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ ปรากฎว่าถาดทองนั้นลอยขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิษฐาน พระพุทธองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระพุทธองค์ได้สำเร็จ และ ตรัสรู้อริยสัจสี่ได้  ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส ในจังหวัดลพบุรีจะมีการกระทำกันอยู่หลายแห่ง เช่น วัดนิคมสามัคคีชัย ตำบลนิคม อำเภอเมืองลพบุรี โดยกระทำกันเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และจะนำไปถวายพระในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  พิธี กวนข้าวทิพย์ จะเริ่มต้นด้วยพิธีพราหมณ์ แล้วจึงตั้งบายศรีบวงสรวงเทพยดา เครื่องประกอบในการตั้งบายศรี มีไตรจีวร 1 ชุด ถาดใส่อาหารมีข้าว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว และผลไม้ จากนั้นพราหมณ์จะสวดชุมนุมเทวดา แล้วจึงเริ่มพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยการนำเอาข้าวที่ยังเป็นน้ำนม หมายถึง ข้าวที่เพิ่งออกรวงใหม่ที่เมล็ดยังเป็นแป้งอยู่ นำมาเอาเปลือกออก นอกจากนั้นยังมีนม เนย ถั่ว น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ ใส่รวมกันไปแล้วกวนให้สุกจนเหนียว พิธีการกวนข้าวทิพย์ จะต้องใช้สาวพรหมจารีย์นุ่งขาวห่มขาวอย่างน้อย 4 คน เป็นผู้กวน พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พวกทายก       ทายิกา จะช่วยกันปั้นข้าวทิพย์เป็นก้อน ๆ ถวายแด่พระภิกษุภายในวัด และจัดแบ่งไปถวายพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง นอกนั้นที่เหลือจะแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ไปร่วมทำบุญในวันนั้นเพื่อเป็นการ ให้ทาน

อ้างอิง ประเพณีกวนข้าวทิพย์